บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุ มักจะมีปัญหากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปัจจุบัน…ก็คงเป็นในเรื่องของบริการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะ BTS หรือ MRT ทำให้วันที่ต้องเดินทางตามลำพัง ก็มักจะเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมา ดังนั้นการทำความเข้าใจ ให้พอมีความรู้กับระบบใหม่ ๆ บ้าง จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะอย่างไรเราก็คงไม่สามารถเลี่ยงการเดินทาง ซึ่งอาจเกิดได้ในชีวิตประจำวัน
1. เตรียมพร้อมก่อนออกจากบ้าน
จะไปไหนให้หาข้อมูล สถานีต้นทาง ปลายทาง เวลาเดินทาง เปิดเว็บดูแผนผังเส้นทางรถไฟฟ้า เตรียมตัว เตรียมสัมภาระ ยาและเวชภัณฑ์ที่ต้องกินเป็นประจำเผื่ฉุกเฉินให้พร้อม และนำติดตัวไปด้วย ตรวจเช็คทุกอย่างให้เรียบร้อย ละเอียดถี่ถ้วนและเผื่อเวลาในการเดินทาง หากมีความวิตกกังวล หรือมีอาการเมา ควรพกยาดมแก้เวียนหัวไปด้วย
2. สิ่งที่ควรปฏิบัติและพึงระวัง
หากเลือกที่นั่งได้ ให้นั่งติดประตูทางออก เพราะจะได้ลุกออกจากประตูได้ทัน เมื่อถึงสถานีที่ต้องการลง ถ้านั่งข้างในจะออกยาก เนื่องจากคนหนาแน่นและเบียดเสียด ด้วยสภาวะขา เข่า ข้อ อาจจะไม่ค่อยดี ไม่ควรอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์ขณะนั่งรถ หรือเคลื่อนไหวในรถ เพราะจะทำให้ประสาทหรือสมาธิจดจ่ออยู่ที่สิ่งนั้น และร่างกายปรับสมดุลตามการเคลื่อนไหวของรถไม่ได้ ทำให้เกิดอาการเมา จึงไม่ควรจ้องหรือเพ่งอยู่ที่จุดเดียว และพยายามมองวิวทิวทัศน์ภายนอกบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดอาการลงได้
3. เลือกเวลาให้ดี
ในรถไฟฟ้าที่แออัด ควรเลือกช่วงที่คนน้อย ๆ ช่วงเวลาที่คนใช้รถไฟฟ้าเยอะที่สุดคือเวลาที่คนกำลังจะไปทำงานช่วง 8.00 – 8.30 น. และเวลากลับบ้านตั้งแต่ 17.00 – 20.00 น. ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงช่วงเวลานี้ได้ แนะนำให้เลือกเดินทางช่วง 18.00 – 19.00 น. เพราะคนจะเบาบางกว่าช่วงอื่น ๆ เนื่องจากอยู่นอกเวลาที่นักเรียนกำลังกลับบ้าน จะเจอแต่คนทำงานอย่างเดียว
4. ซื้อตั๋ว-เหรียญ
ถ้าจะซื้อตั๋วจากตู้อัตโนมัติ เตรียมเหรียญ 1 บาท 5 บาท หรือ 10 บาท เพื่อใช้ซื้อตั๋วโดยสาร หรือติดต่อแลกเหรียญได้ที่ห้องแลกเหรียญ หรือห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร (เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ รับเฉพาะเหรียญ 1 บาท 5 บาท หรือ 10 บาท และสามารถทอนเงินเป็นเหรียญ 5 บาทได้) ตรวจสอบราคาค่าโดยสารของสถานีที่จะเดินทางได้จากตารางอัตราค่าโดยสาร (Fare information) กดเลือกค่าโดยสารของสถานีที่จะเดินทาง ตามมูลค่าที่ระบุในตารางอัตราค่าโดยสาร ชำระค่าโดยสาร โดยหยอดเหรียญที่ช่องหยอดเหรียญ รับตั๋วโดยสารจากช่องรับตั๋ว กรณีที่มีเงินทอน รับเงินทอนจากช่องรับเงินทอน หรือสามารถไปที่เคาเตอร์แล้วบอกพนักงานว่าจะไปสถานีไหนแล้วรอบอกราคา จ่ายเงิน ก็จะได้ตั๋วมา
5. บัตรผู้สูงอายุ
คนวัยนี้ สามารถใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้ โดยซื้อบัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ ความพิเศษบัตรนี้คือ จะมีสิทธิประโยชน์ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าในวันหยุดราชการ และวันเสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น. และช่วงนอกเวลาเร่งด่วนในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 16.00 น. และเวลา 20.00 น. – 24.00 น. ได้เลย หรือถ้าจะไป MRT สามารถขึ้นโดยได้รับส่วนลด 50% ของค่าโดยสารปกติในทุกเส้นทาง สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะต้องออกบัตรขั้นต่ำครั้งแรกราคา 180 บาท โดยออกบัตรและเติมเงินได้ที่ห้องออกบัตรโดยสาร (Ticket office)
6. เข้าสถานี
เมื่อได้ตั๋วมาอยู่ในมือแล้ว ก็ตรงไปยังช่องทางเข้าเลย แต่ว่าแนวกั้นของทางเข้าและทางออกนั้นอยู่ในแนวเดียวกัน ให้สังเกตว่าช่องทางเข้านั้นจะมีสีเครื่องหมายลูกศรสีเขียวอยู่ด้านหน้า ในขณะที่ช่องทางออกนั้นจะเป็นเครื่องหมายกากบาทสีแดง เมื่อมาถึงเครื่องตรวจตั๋วแล้ว เราก็สอดตั๋วเข้าไปในช่อง ซึ่งเมื่อใส่เข้าไปแล้วตั๋วจะเด้งออกมาจากช่องด้านบน จากนั้นเมื่อเราดึงตั๋วออก ที่กั้นก็จะเปิด ตั๋วที่ดึงออกมาก็ต้องเก็บไว้ใช้ตอนขาออกนั่นเอง สำหรับคนที่ไม่สะดวกที่จะเดินผ่านช่อง เช่น มีกระเป๋าใบใหญ่ หิ้วของของพะรุงพะรัง นั่งรถเข็น ก็คุยกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ด้านข้างช่องทางเข้าได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเปิดประตูพิเศษให้เข้า
7. ขึ้นรถไฟให้ถูกสาย ออกจากสถานีให้ถูกทาง
เมื่อเข้ามาด้านในแล้ว ต้องดูว่าฝั่งไหนคือฝั่งไหนรถไฟฟ้าไปทางไหน โดยที่จะมีสถานีท้ายสุดเป็นตัวบอก เช่นฝั่งนึงไปอ่อนนุช และอีกฝั่งนึงไปหมอชิตเป็นต้น เพราะฉะนั้นแล้วควรจะต้องจำไว้ด้วยว่าสถานีสุดท้ายที่จะไปคือสถานีอะไร เมื่อเลือกฝั่งที่จะไปได้แล้วก็เดินขึ้นไปได้เลย ภายในรถไฟฟ้า บริเวณด้านบนของประตูเข้าออกแต่ละจุด จะมีแผนที่สถานีต่าง ๆ ของรถไฟฟ้าด้วย โดยที่จะมีเสียงคอยบอกว่าสถานีที่กำลังจะถึงนั้นคืออะไร หากฟังไม่ค่อยชัด ให้ดูที่จอทีวีสำหรับโฆษณาก็ได้ เพราะใต้โฆษณาจะมีข้อมูลสถานีต่อไปบอก
ที่จริงแล้วการใช้บริการรถไฟฟ้านั้น ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร แต่สำหรับผู้สูงวัย คงจะตื่นเต้นและกังวลไม่น้อยเลย แต่หากมาเห็นสถานที่จริง ๆ แล้วลองสังเกตคนอื่น ๆ ดู จะเห็นเลยว่ามีขั้นตอนในการซื้อตั๋วอยู่อย่างชัดเจน นอกจากจะไม่ยากแล้ว บริเวณใกล้ ๆ ยังมีเจ้าหน้าที่ให้บริการข้อมูล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้สอบถามได้อีกด้วย
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com