ถามตอบ หน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัยที่ ใช้ในช่วงนี้ ต้องเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไหม
สำหรับผู้ที่มีอาการ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่สู่ผู้อื่น สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการ ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง สามารถใช้หน้ากากอนามัยทั่วไป เช่น หน้ากากผ้า หน้ากากกันฝุ่น หน้ากากกันกลิ่น โดยใส่ให้ถูกต้อง ควบคู่ไปกับการล้างมือบ่อย ๆ และการรักษาระยะห่าง
การใช้หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น กันกลิ่น ช่วยป้องกันเชื้อได้ แต่ใส่นาน ๆ อาจทำให้รู้สึกอึดอัด อาจใส่ไม่ต่อเนื่อง และมีค่าใช้จ่ายที่สูง เนื่องจากต้องเปลี่ยนทุกวัน
.
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็นอย่างไร หาซื้อได้ที่ไหน
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่เห็นเป็นสีเขียว สีฟ้า สีขาว มักทำจากโพลีโพไพลีน ในเบื้องต้นจะมี 3 ชั้น ชั้นนอกที่เป็นสี ป้องกันละอองฝอยซึมผ่านได้ สังเกตเอาน้ำหยด น้ำจะกลิ้งไม่ซึมเข้าไป ชั้นกลางต้องมีไส้กรองไว้การกรองอนุภาคเล็ก ๆ รวมถึงเชื้อโรคได้ ชั้นในเป็นวัสดุเดียวกับชั้นนอกแต่ความหนาต่างกัน หากไม่มีไส้กรองตรงกลาง หรือน้ำซึมเข้าด้านหน้าได้ ถือว่าไม่ได้มาตรฐานไม่ควรนำมาใช้ ในผู้ที่มีอาการ
ทั้งนี้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป ผู้ผลิตและนำเข้าต้องขออนุญาตคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนซื้อควรสังเกตที่บรรจุภัณฑ์มี แหล่งผลิต วันเดือนปีนำเข้า วันหมดอายุ หรือตรวจสอบหน้ากากอนามัย ขยี้ไม่มีละอองฟุ้ง ไม่มีกลิ่นสารเคมี ไม่มีกลิ่นพลาสติก และมีชั้นไส้กรอง เป็นต้น
.
หน้ากากผ้าที่มีขายทั่วไปหรือทำขึ้นเอง สามารถใช้ได้ไหม
ใช้ได้ เฉพาะผู้ที่ไม่มีอาการ โดยเลือกผ้าที่มีเส้นใย 2 ชั้นขึ้นไป และนอกจากหน้ากากผ้าแล้วยังสามารถใช้หน้ากากอนามัยแบบอื่นที่มีความละเอียด จนละอองฝอยจากการไอ จามไม่สามารถซึมผ่านได้
.
ใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น ช่วยได้ไหม
ปัจจุบันมีข้อมูลว่า การใส่หน้ากากผ้าทับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มีประโยชน์สามารถลดการแพร่เชื้อและป้องกันการรับเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ดีกว่าใส่หน้ากากชั้นเดียว เนื่องจากหน้ากากผ้าช่วยให้หน้ากากอนามัยที่อยู่ชั้นในแนบชิดกับใบหน้าได้มากกว่า
.
อยู่คนเดียวในบ้าน อยู่กับคนในครอบครัว มีคนภายนอกมาเยี่ยมบ้าน แบบไหนต้องใส่และไม่ต้องใส่
อยู่คนเดียว ผู้ที่ไม่มีอาการใด ๆ ไม่ต้องใส่ อยู่กับคนในครอบครัวหากอยู่ในพื้นที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงการไอ จามในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
มีคนภายนอกมาเยี่ยมบ้าน ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด
.
หน้ากากอนามัยใส่ไว้ไม่นาน วันรุ่งขึ้นใส่ซ้ำได้ไหม
หน้ากากอนามัยทั่วไปไม่ควรใส่ซ้ำ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สำหรับการใช้หน้ากากผ้าในผู้ไม่มีอาการ ใช้ซ้ำได้แต่ต้องซักทุกวัน
.
หน้ากากอนามัยทำความสะอาดได้ไหม และกำจัดอย่างไร
หน้ากากอนามัยทั่วไป ใส่แล้วไม่ต้องทำความสะอาด ให้กำจัดโดยการม้วนเก็บด้านที่สัมผัสการไอ จามของผู้สวมใส่หรือด้านในไว้ รวมใส่ถุงพลาสติก เขียนหน้าถุงว่าหน้ากากอนามัยใช้แล้วให้ชัดเจน
กรณีหน้ากากผ้า ต้องซักทุกวันและใช้ซ้ำได้ไม่เกิน 8 – 10 ครั้ง ควรซักด้วยผงซักฟอกและตากแดดจัด หากซักด้วยน้ำร้อน 70 องศาจะยิ่งดี
ถามตอบ การล้างมือบ่อย ๆ
การล้างมือด้วยน้ำประปาอย่างเดียวได้หรือไม่
น้ำประปาอย่างเดียวไม่สามารถทำลายเชื้อได้ การล้างมือเพื่อกำจัดเชื้อโรค ต้องล้างด้วยสบู่ก้อนหรือสบู่เหลว ใช้เวลาในการฟอกมืออย่างน้อย 20 วินาที โดยถูมือให้ทั่วทั้งด้านหน้า ด้านหลังและซอกนิ้ว ล้างออกด้วยน้ำเปล่า และเช็ดมือด้วยผ้าสะอาด
.
การล้างมือต้องใช้สบู่หรือน้ำยาล้างแบบที่ผสมสารฆ่าเชื้อไหม
ไม่จำเป็น การใช้สบู่หรือน้ำยาล้างมือ ล้างให้ถูกต้อง เพียงพอในการกำจัดเชื้อแล้ว
.
ที่บอกว่าล้างมือบ่อย หมายถึงบ่อยแค่ไหน มีหลักคิดอย่างไร
การล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกต้อง จะช่วยลดการติดเชื้อโควิด 19 ได้ ใช้หลักเบื้องต้น ดังนี้
- ล้างทุกครั้ง หลังอาการไอหรือจาม
- ล้างทุกครั้งที่มาถึงที่ทำงาน/กลับจากที่ทำงาน
- ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร/ก่อนเตรียมอาหาร/ปรุงอาหาร
- ล้างมือก่อนจับต้องใบหน้า
- ล้างทุกครั้ง เมื่อออกจากห้องน้ำ
- ล้างทุกครั้งเมื่อจับกับสัตว์หรือสัตว์เลี้ยง
- ล้างทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
- ล้างทุกครั้งเมื่อคิดว่ามือสกปรก
- ล้างมือทุกครั้งให้นานกว่า 20 วินาที
.
ในกรณีไม่มีน้ำหรือไม่มีสบู่ มีทางเลือกอย่างไร
ต้องกลับมาใช้เจลที่มีแอลกอฮฮอล์ขั้นต้น 70% ทาทำความสะอาดมือให้ทั่ว ถ้ามือสกปรกควรล้างมือขจัดคราบสกปรกออกก่อน เพื่อให้แอลกอฮอล์เข้าถึงเชื้อได้เต็มที่
.
การทำความสะอาดพื้นผิว ใช้วิธีการใด
โดยทั่วไปสามารถใช้น้ำยาทำความสะอาดทั่วไป เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาฟอกขาว ทำความสะอาดได้ ส่วนพื้นที่ที่คิดว่ามีโอกาสมีเชื้อโควิดสูง นอกจากใช้น้ำยาทำความสะอาดทั่วไปแล้ว สามารถเช็ดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อเพิ่มความสบายใจได้
ถามตอบ การเว้นระยะห่าง
ต้องเว้นระยะห่างจากคนในครอบครัว หรือคนที่อยู่ในบ้านเดียวกันไหม
ถ้าเว้นระยะห่างได้ควรเว้น นอกจากการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีโอกาสสัมผัสร่วมกันแล้ว การรักษาระยะห่างเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การแยกกันทานอาหาร แยกกันดูทีวี (หากทำได้) การลดการสนทนาแบบใกล้ชิด การจัดห้องนอนแยกผู้สูงอายุออกจากสมาชิกที่มีความเสี่ยง การแยกกันใช้ห้องน้ำ เป็นต้น
.
ระหว่างเดินทาง เช่น บนรถ เรือ เว้นระยะห่างกันอย่างไร
นั่งเฉพาะตำแหน่งที่ทางรถหรือทางเรือเตรียมไว้ หากต้องยืนให้เว้นระยะห่างระหว่างกันให้มากที่สุด อย่างน้อย 30 ซม. หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าตรง ๆ ในลักษณะที่การไอ จาม พูดน้ำลายกระเด็นใส่กันได้ ควรล้างมือก่อนและหลังการเดินทาง เป็นต้น
.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19 | “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร | โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้ | ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ | ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง | การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง | การควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง | ถามตอบ ข้อสงสัย การควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 | ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 |
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : น.ท.หญิง พญ.ศิริพร ผ่องจิตสิริ
ภาพประกอบ : www.freepik.com