โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ โรคใกล้ตัวในยุคโลกไร้พรมแดน
ในรอบไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีการระบาดของโรคติดเชื้อใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทั้งเชื้อที่ระบาดจากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คน เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 โรคไข้ซิก้า โรคซาร์ส โรคเมอร์ส โรคอีโบล่า และล่าสุดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ได้มีการระบาดและมีการแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนถึงเดือน มี.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 117.4 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 2.6 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โรคระบาดเหล่านี้รวมเรียกว่า โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging infectious diseases, EID) ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) โรคติดเชื้ออุบัติใหม่หมายถึง โรคติดต่อจากเชื้อชนิดใหม่ ๆ ที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา หรือโรคติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งรวมไปถึงโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือโรคที่เพิ่งจะมีการแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง และยังรวมถึงโรคติดเชื้อที่เคยควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะแต่ปัจจุบันเชื้อเกิดการดื้อยาแล้ว โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
- โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (New infectious diseases) เป็นโรคที่ไม่เคยมีมาก่อน เกิดจากเชื้อโรคตัวใหม่ เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009
- โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (New geographical areas) เป็นโรคที่มาจากประเทศหนึ่งระบาดไปยังอีกประเทศหนึ่ง หรือข้ามทวีป เช่น โรคเวสต์ไนล์ไวรัส
- โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ (Re-emerging infectious diseases) เป็นโรคติดต่อที่เคยระบาดในอดีต และสงบไปนานแล้ว แต่กลับมาระบาดอีก เช่น โรคไข้ชิคุนกุนยา
- เชื้อโรคดื้อยา (Antimicrobial resistant organism) เช่น วัณโรคดื้อยา โรคมาลาเรีย
- อาวุธชีวภาพ (Deliberate use of bio-weapons) เป็นการใช้เชื้อโรคหลายชนิดผลิตเป็นอาวุธ เช่น โรคแอนแทรกซ์ โรคไข้ทรพิษ
นอกจากนี้ สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Allergy and Infectious Disease, NIAID) ได้แบ่งโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) โรคที่ค้นพบใหม่ใน 20 ปีที่ผ่านมา 2) โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ และ 3) โรคที่นำไปใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ มีดังต่อไปนี้
- สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงสูง (Climate change) โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อนทำให้ระบบนิเวศน์มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตบางชนิดเพิ่มหรือลดจำนวน เกิดเชื้อใหม่ ๆ หรือเชื้อกลายพันธ์ในบางพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
- เชื้อโรคเดิม ๆ มีการกลายพันธุเพิ่มมากขึ้น เพื่อดำรงชีวิตภายใต้ความเปลี่ยนแปลง (Microbial adaptation and change)
- การอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ซึ่งเป็นยุคที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีในทุก ๆ ด้าน มีการติดต่อสื่อสาร ทำมาค้าขาย เดินทางระหว่างประเทศ ระหว่างทวีปเพิ่มมากขึ้น ทำให้เชื้อโรคระบาดในพื้นหนึ่งสามารถระบาดไปยังหลาย ๆ พื้นที่ของโลกได้อย่างรวดเร็ว
- การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพทำให้มีผู้ป่วยโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรังจำนวนมาก (NCDs) ทำให้โรคระบาดในแต่ละครั้งมีผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความยากจน การแข่งขันอาวุธชีวภาพ เป็นต้น
สิ่งที่ประชาชนต้องเตรียมตัว รองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่
นอกจากภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมมาตรการรับมือการระบาดของโรคใหม่ ๆ ทั้งการตรวจจับการระบาด การสอบสวน การควบคุม การป้องกันโรค ในส่วนของประชาชนเอง ต้องใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น ต้องตระหนักถึงโรคติดต่อใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เข้าใจถึงช่องทางในการติดต่อหรือสัมผัสเชื้อ เรียนรู้ทั้งวิธีป้องกัน วิธีควบคุม ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ และเรียนรู้การปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อใช้ชีวิตในช่วงที่มีการระบาด
เชื้อโคโรน่าไวรัสและโรคโควิด 19 (COVID-19)
เชื้อโคโรน่าไวรัสและโรคโควิด 19 เป็นอีกตัวอย่างของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การใช้ชีวิต ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้ต้องมีการปรับตัวและมีวิถีชีวิตใหม่ (New normal) เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ทั้งนี้การป้องกันและควบคุมจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนต้องมีข้อมูล มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในช่วงที่โรคมีการระบาด
.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร | โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้ | ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ | ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง | การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง |
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบ : www.freepik.com